Under the Dark Sun เป็นทั้งสัญญาณเตือน และในเวลาเดียวกันก็ชี้โอกาสในการเปลี่ยนเปลง นิทรรศการนี้ชวนให้เรานึกถึงพลังในการโอบอุ้มเลี้ยงดูสิ่งมีชีวิตของธรรมชาติ เป็นนิเวศที่ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน มนุษย์กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่และ Under the Dark Sun ก็สะท้อนว่าธรรมชาติเอง ก็อาจจะดับสูญลงในสักวันหนึ่ง กลายเป็นสถานที่มืดมน ไร้ความอารี ไร้แสง และไร้ชีวิต เป็นจุดสิ้นสุดของโลก หรืออาจเป็นจุดเปลี่ยนผ่านในวัฏจักรของโลก
ฉะนั้น Under the Dark Sun จึงเป็นคำพยากรณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ความสะเทือนใจและความกังวลในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นรากฐานที่อิ่มหทัยกลั่นความคิดออกมาเป็นนิทรรศการนี้ ในแง่หนึ่งเธอสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ และอีกแง่หนึ่งเธอสื่อสารถึงอิทธิพลของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และต่อประวัติศาสตร์ของโลกในฐานะดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นพระจันทร์และพระอาทิตย์ ทั้งสองต่างเกี่ยวพันกับโลกในฐานะดาวบริวารและดาวฤกษ์ ที่ได้สร้างอารยธรรมของมนุษย์มานับพันปี ทั้งกำหนดช่วงเวลาเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว การย้ายถิ่น ฤดูล่าสัตว์และฤดูตกปลา ถ้าหากวันหนึ่งดวงอาทิตย์ถูกบดบังและดวงจันทร์ดับแสงลง ดาวโลกดวงนี้จะเป็นอย่างไร? วัฏจักรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะยังนำทางเราอยู่หรือไม่? ความหลากหลายทางชีวภาพจะยังคงอยู่ได้หรือไม่?
เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าก้อนกลมๆ เหล่านี้คือเส้นผมของมนุษย์ที่ถูฏนำมาปั่น มาม้วนรวมกันเป็นก้อนกลม ว้าวมากๆ เลยตอนที่เห็น
เหล่าแพลงต้อนตัวน้อย ที่ถูกสรรสร้างขึ้นมาจากเส้นผมคนเช่นกัน
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะระดับนานาชาติ ด้วยเอกลักษณ์ในการเลือกใช้เส้นผมมนุษย์เป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เธอเชื่อมโยงเส้นผมกับประสบการณ์ของมนุษย์ ผ่านผลงานที่ทั้งจับต้องได้และเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีชีวิต และการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ผลงานของอิ่มหทัยจึงสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ชีวิต ความตาย ความรุนแรง ศีลธรรม และระบบความเชื่อและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย เพื่อตอบโต้กับประเด็นทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น ผลงานในช่วงหลังของอิ่มหทัยครอบคุลมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบของปัจเจกต่อการดูแลรักษาธรรมชาติรอบตัวเราทุกคน
ผลงานของอิ่มหทัยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งมหกรรมศิลปะระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่ Gwangju Biennale 2024 ประเทศเกาหลีใต้, Biennale of Sydney 2022 ประเทศออสเตรเลีย, Songkhla Pavillion 2019 ที่ Venice Biennale ประเทศอิตาลี, Bangkok Art Biennale (BAB) 2018 ประเทศไทย, Jakarta Biennale 2017 ประเทศอินโดนีเซีย, Busan Biennale 2010 ประเทศเกาหลีใต้, International Incheon Women Artists Biennale 2009 ประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ผลงานของเธอยังได้ร่วมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอีกหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น Singapore Art Museum 2012 ประเทศสิงคโปร์, The Museum of Contemporary Art and Design 2011 ประเทศฟิลิปปินส์, Coreana Museum of Art, Space*C 2011 ประเทศเกาหลีใต้, NCA Nichido Contemporary Art 2010 ประเทศญี่ปุ่น
งานศิลปะของอิ่มหทัยยังอยู่ในคอลเลคชั่นของนักสะสมและสถาบันศิลปะจากทั่วโลก เช่น Singapore Art Museum, Maiiam Contemporary Art Museum, และ The Art of the City of Gothenburg ประเทศสวีเดน
ลอเรดานา ปาซซินี ปาราซซิอานี เป็นนักวิชาการอิสระ และภัณฑารักษ์งานศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลงานวิจัยและแนวทางในการจัดงานศิลปะของเธอถูกขับเคลื่อนด้วยประเด็นสำคัญทางสังคมการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลงานของเธอมีจุดยืนชัดเจนในการตอบโต้ความคิดครอบงำ และไม่ยึดติดกับแนวคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง บทความของเธอได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหลายฉบับ เช่น Visual Anthropology, Routledge สหราชอาณาจักร, Photographies, Routledge and University of Westminster สหราชอาณาจักร, Frames Cinema Journal, University of St Andrews สหราชอาณาจักร, Convocarte: Revista de Ciências da Arte, Lisbon University ประเทศโปรตุเกส และ M.A.tter Unbound, LASALLE College of the Arts ประเทศสิงคโปร์ เธอยังเป็นบรรณาธิการร่วมกับ Patrick D. Flores ในหนังสือรวมบทความ Interlaced Journeys: Diaspora and the Contemporary in Southeast Asian Art ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 2020 โดย Osage Art Foundation ฮ่องกง
ผลงานการจัดนิทรรศการที่ผ่านมาของเธอได้แก่ Matrilineal นิทรรศการเดี่ยวของจักกาย ศิริบุตร ปี 2024 ที่มูลนิธิ 100 ต้นสน, Déjà vu: When the Sun Rises in the West นิทรรศการเดี่ยวของนที อุตฤทธิ์ ปี 2022 ที่ Silpakorn Art Center, Homecoming /Eventually ปี 2021 ที่ UP Vargas Museum ประเทศฟิลิปปินส์, Diaspora: Exit, Exile, Exodus of Southeast Asia ปี 2019 ที่ MAIIAM Contemporary Art Museum จังหวัดเชียงใหม่ และ Architectural Landscapes: SEA in the Forefront ปี 2015 ที่ Queens Museum นิวยอร์ก นอกจากนี้ ลอเรดานายังเป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ของ Bangkok Art Biennale ปี 2022 อีกด้วย
โดยเพื่อนๆ สามารถมาชมผลงานเหล่านี้ได้ที่ ที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี โครงการโอพี การ์เด้น เลขที่ 4 ซอยเจริญกรุง 36 บางรัก กรุงเทพฯ เวลาทำการ 10.30 น. ถึง 19.30 น.โดยเปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 กันยายน 2567