No Wall (ไร้กำแพง) การสำรวจนิยามทางสังคมของกำแพงผ่านงานศิลปะนามธรรม
สวัสดีท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน วันนี้ทาง uptogu จะมาพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวชมงานศิลปะอันสวยงามของ เจมส์ (วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล) งานศิลปะที่จะทุกคนจะได้ชมความงดงามบนกำแพงในจินตนาการของเขา กำแพงที่สวยงามที่เขาได้เห็นผ่านตาจากการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ บนโลกอันกว้างใหญ่นี้ หลากหลายสถานที่ที่เขาไปล้วนมีกำแพงมากมายหลายรูปแบบ กำแพงในแต่ละที่ล้วนมีเอกลักษณ์ของสถานที่เหล่านั้นซ่อนเร้นอยู่ จึงนำมาแสดงออกในมุมมองของเขาผ่านผลงานศิลปะเหล่านี่ให้เราได้รับชมกันค่ะ
No Wall (ไร้กำแพง) การสำรวจนิยามทางสังคมของกำแพงผ่านงานศิลปะนามธรรม
เจมส์ (วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล) คือศิลปินร่วมสมัยชาวกรุงเทพโดยกำเนิดผู้อาศัยและทำงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงแม้เขาจะทำงานศิลปะแบบนามธรรม แต่ผลงานของเขาก็แตกต่างจากศิลปินนามธรรมทั่ว ๆ ไปซึ่งเน้นในการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกภายในและการทำงานแบบด้นสด (Improvisation) หากแต่เป็นการทำงานคล้ายกับงานศิลปะแบบคอนเซ็ปชวล (Conceptual Art) ที่ผ่านการวางแผนและการทำงานด้วยกระบวนการคิดในเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว อาทิ เรื่องของปัจจัยรายรอบที่ควบคุมชีวิตมนุษย์อย่างระบบทุนนิยม วัฒนธรรม ประเพณี และอำนาจทางสังคมการเมือง นอกจากนี้ ผลงานของเขายังมีความเกี่ยวข้องกับการทดลองกับธรรมชาติและปฏิกิริยาทางเคมีของสื่อทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสีหรือผลิตภัณฑ์ผสมสีชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นผลงานศิลปะนามธรรมอันมีเส้นสาย รูปทรง สีสัน ที่สื่อสารถึงประเด็นที่เขาต้องการจะนำเสนออย่างมีนัยยะสำคัญ
ผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาในครั้งนี้อย่าง “No Wall (ไร้กำแพง)” ได้แรงบันดาลใจมาจากการได้เห็นกำแพงในรูปแบบต่าง ๆ จากการท่องเที่ยวเดินทางไปในหลายประเทศทั่วโลก เขามองว่ากำแพงเหล่านี้แสดงถึงนัยยะสำคัญมากมาย อาจเป็นความยิ่งใหญ่และการข่มขวัญคู่ต่อสู้ของอาณาจักรอันเกรียงไกรสักแห่ง อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกัน ปกปิดไม่ให้คนภายนอกเข้าถึงหรือรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ภายในได้ หรือแม้แต่ใช้ปกปิดความหวาดกลัวของผู้สร้างเอง บางที่อาจเกี่ยวข้องกับความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ทางศาสนา และในทางกลับกัน กำแพงเหล่านี้ก็ถูกสร้างขึ้นจากแรงงาน เลือดเนื้อ ชีวิต และความตายของทาสจำนวนมหาศาลตลอดมา
เกี่ยวกับศิลปิน
วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล (เกิดปี พ.ศ. 2526) จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจบการศึกษา ศิลปินได้เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาถึง 4 ปี โดยได้ทำงานศิลปะควบคู่ไปกับการหาเลี้ยงชีพอื่น ๆ อาทิ พ่อครัวและช่างสัก หลังเดินทางกลับมาอยู่ประเทศไทย ศิลปินได้เลือกใช้ชีวิตอย่างเข้าใจความเป็นจริง โดยไม่ได้จดจ่อเพียงแค่การทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ยังผสมผสานงานศิลปะเข้าไปในทุกบริบทของชีวิต โดยศิลปินได้เปิดร้านอาหารกึ่งสตูดิโอและเลือกสื่อสารศิลปะผ่านทางการปรุงอาหาร อย่างไรก็ตาม ศิลปินได้กลับมาทำงานศิลปะอย่างเต็มตัวอีกครั้งเมื่อเขาได้เปิดสตูดิโอ “สีดิน” ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ศิลปินสนใจในการวิเคราะห์และวิพากษ์ปัจจัยรายรอบที่ควบคุมชีวิตมนุษย์อย่าง ระบบทุนนิยม วัฒนธรรม ประเพณี และอํานาจทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะอํานาจรัฐที่กดขี่และลดทอนความเป็นปัจเจกของประชาชน โดยสื่อสารผ่านเส้นและสีที่ประกอบสร้างเป็นรูปทรงและพื้นผิวในผลงานศิลปะของเขา
เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 1 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ RCB Photographers’ Gallery ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก